กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการบริหารการศึกษาของประเทศไทยในระดับภูมิภาค
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ระหว่างวันที่ 14 – 16 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนการบริหารจัดการศึกษาในภูมิภาค ที่เน้นย้ำในการทำงานที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนแม่บทตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 3 และด้านที่ 4 ที่มุ่งให้ความสำคัญกับแผนการพัฒนาการศึกษาแบบยั่งยืน เสมอภาคและเท่าเทียม ศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะอยู่ใกล้ชิดกลุ่มเป้าหมาย ดูแลในหลายด้านของระบบการศึกษาไม่ว่าจะเป็นทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางและบูรณาการทุกช่วงระหว่างภาครัฐและเอกชนให้สำเร็จเสร็จสิ้นในคนเดียวจึงมีความจำเป็นที่จะต้องคัดเลือกคนที่มีคุณภาพ สามารถดูแลบริหารการศึกษาได้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคท้องถิ่น
ส่วนการปฏิรูปการศึกษา จะต้องปฏิรูปทั้งโครงสร้างการบริหารงานและเนื้อหาสาระตามแผนปฏิบัติราชการ เมื่อมีแผนการพัฒนาจังหวัดแล้ว ยังจะต้องมีคณะกรรมการที่คอยขับเคลื่อนงานให้เป็นไปตามแผนอีกด้วยซึ่งในปัจจุบันเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ การทำงานแบบประสานความร่วมมือและผสมผสานการทำงานร่วมกันจึงมีความสำคัญอย่างมากในการปฏิรูปการศึกษาในทุกมิติ เพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทด้านการศึกษา และแผนปฏิรูปประเทศ เพราะฉะนั้นแล้วบทบาทที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติในพื้นที่ ศธภ. และ ศธจ. จึงต้องทำหน้าที่เป็นทั้งผู้รับนโยบายไปสู่การขับเคลื่อนการศึกษาในบริบทพื้นที่ อีกทั้งจะต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนงานและปฏิบัติจริงตลอดจนคอยช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริม การศึกษาในทุกระดับทุกประเภทในบริบทของผู้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกล่าวเปิดโครงการฯ ได้กล่าวในนามกระทรวงศึกษาธิการ ในประเด็นดังต่อไปนี้
- การจะพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนได้นั้นจะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา ดังคำกล่าวที่ว่า “การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ” การศึกษาคือ ความมั่นคงของชีวิต ครอบครัว และประเทศชาติ ไม่มีอาวุธใดที่จะสำคัญเท่ากับสมองของคน นี่จึงเป็นภารกิจที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนการศึกษาให้บรรลุผลสำเร็จ
- การปฏิรูปการศึกษาในส่วนภูมิภาค โดยใช้กลไกการบริหารและการจัดการศึกษาผ่านสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 ภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 77 จังหวัด เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการและมีส่วนร่วมให้สอดประสานการทำงานร่วมกันเชิงระบบแบบสร้างสรรค์ในพื้นที่ระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด อีกทั้งยังเป็นการทบทวน ปรับปรุงแบบแผนการดำเนินงาน กลไก เทคนิค รูปแบบการบริหารจัดการศึกษาในโครงการสำคัญในปีงบประมาณ 2567 ให้ตอบสนองต่อเป้าหมายของชาติภายใต้บริบทเชิงพื้นที่
- การศึกษาด้านภูมิศาสตร์ทางสังคมเชิงพื้นที่ในการนำองค์ความรู้โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตโรงเรียนชุมชนดอยช้าง ผลิตปุ๋ยกากกาแฟ แก้ปัญหาดิน แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ทางการตลาดผ่านร้านค้าวิสาหกิจชุมชน เพื่อต่อยอดให้คนในพื้นที่มีอาชีพและมีรายได้
- กระทรวงศึกษาธิการ ได้ปฏิรูปองค์ความรู้ตามศาสตร์พระราชาผสมผสานกับองค์ความรู้สากล พระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 พัฒนาหลักสูตรชลกร เพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ แก้ไขปัญหาอุทกภัย ภาวะน้ำเน่าเสีย หากทุกคนแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ เมื่อเกษตรกรในชุมชนมีน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการ ก็จะมีอาหาร คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็จะตามมา อาจกล่าวได้ว่าการเกษตรเป็นกลไกสำคัญ ก้าวข้ามวิกฤตในทุกรูปแบบอย่างยั่งยืน
- นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อเตรียมคนไทยในศตวรรษที่ 21 โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้ มุ่งสู่ระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีด้านวิศวกรรม คณิตศาสตร์และภาษาต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการเรียน Coding ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบ UNPLUGGED และ รูปแบบ IN-PLUG ซึ่งเป็นทักษะภาษาที่จะช่วยสร้างความคิดที่เป็นระบบ มีตรรกะ สามารถช่วยให้เด็กไทยแก้ปัญหาได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี STEAM ได้แก่ Science ,Technology, Innovation และ Art (Art of life , Art of living , Art of working Together) ตอบสนองการเรียนรู้สู่อัจฉริยะ ซึ่งเป็นสมรรถนะที่จำเป็นในอนาคต
- ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตามแผนการศึกษาชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะนักเรียน ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีผ่านกระบวนการของหลักสูตรและเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัย โรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียน หรือเรียกว่า “วิทยาศาสตร์พลังสิบ” เพื่อพัฒนาส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนและสร้างโอกาสทางการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้กับผู้เรียนในทุกพื้นที่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กตั้งแต่วัยอนุบาล เตรียมพร้อมเผชิญทุกความเปลี่ยนแปลงในอนาคต แก้ปัญหาพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างคุณค่าให้กับตัวเองและสังคม
นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวในนามของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่เชื่อมโยงประสานงานจากส่วนกลางลงสู่ภูมิภาคในระดับพื้นที่ ซึ่งการทำงานให้บรรลุผลการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมนานาประเทศนั้น ต้องมีการทำงานแบบบูรณาการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกหน่วยงานในระดับพื้นที่ มีการกำกับ ติดตาม ดูแล ช่วยเหลือการทำงานแบบองค์รวม ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ในฐานะเป็นศูนย์กลางกระจายอำนาจสู่ศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการ ลดความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่และองค์กรจังหวัด เพื่อจะได้พัฒนาแนวทางการทำงานร่วมกัน
การจัดการศึกษาในระดับพื้นที่เชิงวิชาการ จะต้องพัฒนาหลักสูตรระดับพื้นที่ให้สอดคล้องตามบริบทและพัฒนางานวิชาการให้เป็นรูปธรรม มีความเข้มแข็ง เชื่อมโยงหลักสูตรกับสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่น อาชีวศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาพิเศษ โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบรรลุผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน กำหนดตัวชี้วัดที่สามารถประเมินผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตรที่กำหนด
การจัดประชุมครั้งนี้ นับว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในแต่ละสังกัดภายในกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานภายนอกที่ได้รับความร่วมมือจากการทำ MOU ร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพ เวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเสวนาร่วมกันเกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนการบริหารการศึกษาของประเทศไทยในระดับภูมิภาค โดยนายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ., ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กอศ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ สกศ., นายคมกฤช จันทร์ขจร รองอธิบดี สกร. รักษาราชการแทนอธิบดี สกร., นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการ กช., นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งผู้บริหารระดับสูง ศธ., ศึกษาธิการภาค 1-18 และศึกษาธิการจังหวัด 77 แห่ง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการบริหารการศึกษาในภูมิภาค สป. ผู้อำนวยการสำนัก/หน่วย/กลุ่ม/ศูนย์ จากหน่วยงานส่วนกลาง บุคลากรและเจ้าหน้าที่ กสภ.สป. เข้าร่วมกว่า 320 คน
วริศรา พรมวัง /ข่าว
พิมผกา เคลือมณี /ภาพ