วันที่ 17 ตุลาคม 2567 เวลา 13.00 – 16.30 น. กองส่งเสริมและพัฒนาการบริหารการศึกษาในภูมิภาค สป. การประชุมหารือเกี่ยวกับการขยายผลโรงเรียนไร้ขยะในจังหวัดสระบุรี โดยมี นางสาวนวลพรรณ วรรณสุธี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการบริหารการศึกษาในภูมิภาค สป. เป็นประธานในการประชุมฯ พร้อมด้วยนายดิษฐนันท์ เส็นฤทธิ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และบุคคลากรกลุ่มพัฒนาระบบบริหารการศึกษาในภูมิภาค ณ ห้องประชุมจันทรเกษม ชั้น 1 อาคาราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
การขับเคลื่อนโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ในจังหวัดสระบุรี ของ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และตัวอย่างการดำเนินโครงการชุมชนไร้ขยะและโรงเรียนไร้ขยะ ที่จังหวัดราชบุรี
การขับเคลื่อนโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ในจังหวัดสระบุรี ของ บริษัทปูนซิเมนต์ไทยจำกัด (มหาชน)
จังหวัดสระบุรีได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ดำเนินโครงการนำร่องสร้างเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรก “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ” ในรูปแบบความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (PPP: Public-Private-People Partnership) โดยเลือกจังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดนำร่อง เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหนักสูงถึง 80%
ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนโครงการ ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่
1) นโยบาย กฎ และระเบียบปฏิบัติ เพื่อทบทวน และแก้ปัญหาข้อจำกัด ความทับซ้อนจากหน่วยงานภาครัฐ
2) เงินทุนสีเขียว เพื่อหาช่องทางการรับเงินทุนสนับสนุนจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ
3) เทคโนโลยี เพื่อหาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำมาใช้ลดก๊าซเรือนกระจก
4) การกำกับดูแล เพื่อสร้างความร่วมมือ ระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
การดำเนินงานโครงการ ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่
1) ภาคพลังงาน (Energy) เช่น การเปลี่ยนพื้นที่ว่างให้เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
2) ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (IPPU) เช่น การใช้ปูนลดโลกร้อน
3) ภาคการจัดการของเสีย (Waste) ได้แก่ การจัดการวัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตร อุตสาหกรรม และชุมชน แปรรูปเป็นพลังงาน หรือผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า
4) ภาคเกษตร (Agriculture) เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง การปลูกพืชพลังงาน
5) ภาคป่าไม้ (LULUCF) เช่น การปลูกป่าชุมชน และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
โครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2030 ให้ได้ 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม โดยผู้แทน ของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
โครงการชุมชน LIKE “ไร้” ขยะ จังหวัดราชบุรี
โครงการชุมชน LIKE “ไร้” ขยะ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นพื้นที่มีการรีไซเคิลอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย SCGP มีโรงงานหลักอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และมีเศษวัสดุเหลือใช้จากการผลิต จึงเกิดแนวคิดการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง คือ การนำวัสดุเหลือใช้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยแบ่งกลุ่มการจัดการขยะเป็น 2 กลุ่ม ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางได้ คือ
- กลุ่มต้นทาง ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน ร้านค้า
- กลุ่มปลายทาง ได้แก่ ศูนย์รับซื้อขยะ โรงงาน เทศบาล
ทั้งนี้ การสร้างการตระหนักรู้ให้เกิดขึ้น ควรเริ่มตั้งแต่เยาวชน จึงมีการต่อยอดการปลูกฝังเรื่องการคัดแยกขยะสู่เยาวชน ตัวอย่าง โรงเรียนเทศบาล 1 ทรงพลวิทยา ต้นแบบโรงเรียนในโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการศึกษาฐานการเรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ ประจำปีการศึกษา 2566