วันที่ 6 มกราคม 2567 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดเวทีเสวนาวิชาการ “เปิดโฉมหน้าวิชาประวัติศาสตร์ไทย : คน GEN ใหม่ เรียนเรื่องเก่าแบบไหนในยุค AI ครองเมือง” โดยมี ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.ประวีณา อัสโย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ • ผศ.ดร. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ • ว่าที่เรือตรี ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูผู้สอนสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม โรงเรียนราชดำริ • ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินรายการโดย นางสาวณัชชาวีล์ วาณิชย์สุรางค์ ผู้ประกาศข่าว TNN • ดร.ชัชวาล อัชฌากุล ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและประเมินการบังคับใช้กฎหมายการศึกษา สกศ. และ ผู้สนใจ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีนางสาวนวลพรรรณ วรรณสุธี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการบริหารการศึกษาในภูมิภาค และนางสาวจิตตราพร จันทร์พันธ์ พนักงานวิเคราะห์นโยบายและแผน เข้าร่วมเวทีเสวนาวิชาการดังกล่าว ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ ควบคู่กับออกอากาศทางโทรทัศน์ ETV และ Facebook Live “ETV Channel” โดย Facebook Page “OEC News สภาการศึกษา” และ “Starfish Labz”ร่วมแชร์การ LIVE .
ที่ประชุมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยในยุคที่เทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทและกำลังกลายเป็นวิชาที่ไม่ได้รับความสำคัญ
ศ.พิเศษธงทอง กล่าวว่า ปัจจุบันการเรียนการสอนแบบเดิมกำลังถูกท้าทาย สิ่งที่เราเรียนรู้ในประวัติศาสตร์ ทั้งข้อเท็จจริง หรือข้อสันนิษฐาน ควรจะต้องมีการอธิบายชัดเจน ด้วยข้อมูลที่หลากหลายมาประกอบความคิดเห็น ซึ่ง AI มีส่วนช่วยในการหาข้อมูลและประมวลผลได้ แต่ทั้งนี้ครูผู้สอนเองก็ต้องมีการพัฒนา Upskill ในการใช้เครื่องมือเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสอน
เวทีเสวนายังได้แลกเปลี่ยนมุมมองความท้าทายใหม่ของการสอนวิชาประวัติศาสตร์ยุค AI ครองเมือง อาทิ Media literacy • Active learning • การพัฒนาครู ผู้ที่เป็นกุญแจสำคัญ และพัฒนาหลักสูตรตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ให้ผู้ศึกษาตระหนักว่า คุณค่าของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ จะ “สร้างนักคิด และปัญญาชน” โดยการสอนแบบ Active learning นั้น ครูจะเป็นนักคิด หรือผู้ทำงานทางความคิด ตั้งคำถามอย่างทรงพลัง หรือที่เรียกว่า “กระตุกจิต กระชากใจ” สร้างให้ผู้เรียน คิดตามอย่างมีเหตุผล รู้จักวิเคราะห์เนื้อหา รู้เท่าทันสื่อ ฝึกให้ผู้เรียนตั้งคำถาม และสามารถนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
ดร.กมล รอดคล้าย ได้กล่าวทิ้งท้าย โดยมีใจความสำคัญว่า
“สิ่งที่เราจะทำต่อจากนี้ คือ การจัดระบบการหาความรู้ การวางแผนพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ นำไปสู่การพัฒนาครูกลุ่มใหม่ ในรูปแบบใหม่ การวางระบบการศึกษาประวัติศาสตร์เชิงจารีต เชื่อมโยงไปถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับโรงเรียน สถานศึกษา ในการที่จะหาความรู้ และให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเชื่อมโยงความผูกพันระหว่างท้องถิ่นและผู้เรียน จนก่อให้เกิดความรักท้องถิ่นและนำในสู่การรักชาติในที่สุด และจะต้องมีเวทีออกรับฟังความคิดเห็นในวงกว้าง มีพื้นที่ หรือช่องทางแสดงความคิดเห็น ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ครูผู้สอน ตลอดจนผู้เรียน ต้องเข้ามามีส่วนช่วยกันสร้างหลักสูตรประวัติศาสตร์ในรูปแบบใหม่ ให้ประสบความสำเร็จอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานของเรา โดยมีความคาดหวัง ว่า การเรียนรู้ประวัติศาสตร์จะทำให้เราเข้าอกเข้าใจคนในยุคนั้น เราเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดในอดีตแล้วไม่กลับไปทำซ้ำ แต่เราจะสร้างสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์ในยุคใหม่ให้ดีกว่าเดิม”