กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนงานเพื่อยกระดับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 นางสาวนวลพรรณ วรรณสุธี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการบริหารการศึกษา สป. เป็นประธานการประชุมคณะทำงานยุทธศาสตร์ที่ 2 ป้องกันมิให้เกิดผู้เสพยาสูบรายใหม่ และเฝ้าระวังธุรกิจยาสูบ ครั้งที่ 1/2567 ภายใต้คณะทำงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ ด้านการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่สาม พ.ศ. 2565 – 2570 ณ ห้องประชุมอายุรกิจโกศล ชั้น 2 อาคาร 1 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามความก้าวหน้าและผลการดำเนินงาน ยุทธศาสตร์ที่ 2 ของหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน และร่วมพิจารณาจุดดำเนินการร่วมกันในการควบคุึมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน โดยมีผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้แทนกรมสรรพสามิต ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ผู้แทนศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ผู้แทนมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ผู้แทนสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การพิจารณาจุดดำเนินการร่วมกันในการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน คณะทำงานฯ ได้แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

  1. ยกระดับการเฝ้าระวัง โดยการจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ทั้งในสถานศึกษาและรอบสถานศึกษา พร้อมทั้งการสื่อสารแนวทางปฏิบัติและช่องทางการร้องเรียน ร้องทุกข์ แจ้งเบาะแส และการส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้ ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ
  2. กำหนดมาตรการป้องกันการเข้าถึงบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า โดยขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงาน • สร้างความรู้ความเข้าใจ/การรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษพิษภัย อันตรายและผลกระทบของบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า การสื่อสาร รณรงค์ สร้างกระแสในสถานศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนค่านิยม/ทัศนคติ และให้รู้เท่าทันกลยุทธ์ของบุหรี่ไฟฟ้า • สื่อสาร รณรงค์ สร้างกระแสในสถานศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนค่านิยม/ทัศนคติ และให้รู้เท่าทันกลยุทธ์ของบุหรี่ไฟฟ้า • เฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับสูบ/ครอบครอง จำหน่าย/ขาย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า • กำหนดให้สถานที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า • บูรณาการร่วมกับการดาเนินงานตามแนวทาง 7 มาตรการเพื่อสถานศึกษาปลอดบุหรี่ • การปฏิเสธการรับทุนอุปถัมภ์ หรือการสนับสนุนใดๆ จากผู้ประกอบธุรกิจยาสูบหรือธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า
  3. เร่งสร้างความตระหนัก รับรู้ และเท่าทันกลยุทธ์ฯ โดยการให้แต่หน่วยงาน • เพิ่มประเด็นความรู้เกี่ยวกับโทษพิษภัยฯ ทั้งในหลักสูตร นอกหลักสูตรและกิจกรรมเสริมหลักสูตร • พัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาให้มีองค์ความรู้ และสามารถถ่ายทอดให้กับนักเรียนได้ • พัฒนาเนื้อหา รูปแบบ และการถ่ายทอดสื่อความรู้ที่น่าสนใจและตอบสนองต่อพฤติกรรมการเสพสื่อ • พัฒนาสื่อและช่องทางการถ่ายทอดสื่อที่หลากหลายและเหมาะสมพฤติกรรมการเสพสื่อ • เผยแพร่สื่อความรู้ด้วยช่องทางที่หลากหลายและเหมาะสมต่อพฤติกรรมการเสพสื่อ
[Sassy_Social_Share]